Facebook ประกาศ 5 รายชื่อชุมชนไทยเข้ารอบ Community Accelerator เอเชีย แปซิฟิค

 

เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศรายชื่อชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Community Accelerator ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมระยะเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยเหลือผู้นำชุมชนให้สามารถสร้างการเติบโตชุมชนของพวกเขาผ่านการฝึกอบรมการให้คำแนะนำ และการมอบเงินทุนหลังจากที่ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการไปเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ผลคือใน 13 ชุมชนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านการคัดเลือก มีกลุ่ม Young Pride Club, ยังแฮปปี้ YoungHappy, Local Alike, Ooca และ เด็กพิการเรียนไหนดี จากประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

 

เกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook กล่าวว่าชุมชนหลายร้อยแห่งจาก 4 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และประเทศไทยที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ หลังจากขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มข้น บริษัทจึงได้ตัดสินใจคัดเลือกชุมชนที่ได้เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกระยะยาว แต่อาจยังขาดแรงสนับสนุนสำคัญในการผลักดันเจตนารมณ์และขยายชุมชนให้เติบโตยิ่งขึ้น

 

“เราตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้นำชุมชนที่หลากหลายและตั้งตารอการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชุมชนเหล่านี้ในอนาคต”

 

ชุมชนจากประเทศไทยทั้ง 5 กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของความหลากหลายและมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและสร้างพลังให้กับกลุ่มชุมชนที่อาจไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนขนาดเล็กต่างๆ

 

ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ได้ก่อตั้งกลุ่ม Young Pride Club ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนที่สนใจด้านความเท่าเทียมทางเพศและกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สมาชิกได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมซึ่งส่งเสริมความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วมและประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้มีผู้ติดตามราว 20,000 ราย และได้พัฒนาผู้นำ LGBT+ รุ่นเยาว์แล้วกว่า 50 คนจาก 4 ภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 50 แห่งและได้จัดกิจกรรม Chiang Mai Pride ที่มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคน

 

จำนวนผู้สูงอายุในไทยคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุเหล่านี้ถือเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงกระฉับกระเฉง แต่บ่อยครั้งกลับไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม ส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่าย ซึมเศร้า รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ ธนากร พรหมยศ ได้ก่อตั้งกลุ่ม ยังแฮปปี้ YoungHappy ขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ พัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์และสนับสนุนสุขภาพที่ดี ชุมชนแห่งนี้มีสมาชิกกว่า 60,000 ราย และผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากกว่า 5,000 คน โดยผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มีค่าดัชนีวุฒิวัยของผู้สูงอายุ (Active Aging Index หรือ AAI) สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากองค์การอนามัยโลกถึงร้อยละ 15

 

ชุมชน Local Alike ก่อตั้งโดยสมศักดิ์ บุญคำ ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อพัฒนา ยกระดับศักยภาพ และเชื่อมชุมชนการท่องเที่ยวของไทยไปทั่วโลก ปัจจุบัน หมู่บ้านกว่า 300 แห่งในประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่นได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืนด้วยตนเอง ชุมชนแห่งนี้ยังได้ทำงานร่วมกับหมู่บ้านอีก 150 แห่ง และสร้างรายได้จากท่องเที่ยวมูลค่าราวกว่า 62 ล้านบาท (2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

 

ทพญ. กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ริเริ่มแพลทฟอร์ม Ooca ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและเป็นสื่อกลางที่เชื่อมระหว่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยาและผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำ โดยไม่เปิดเผยตัวตนผ่านทางวิดีโอคอล นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว Ooca ได้กลายเป็นผู้นำแพลทฟอร์มสำหรับให้คำปรึกษา โดยมีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนราว  72,000 คน และมีผู้ที่เข้ารับคำแนะนำออนไลน์กว่า 6,000 คน

 

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เล็งเห็นประเด็นการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายในประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะว่างงาน จึงได้จัดตั้งโครงการ เด็กพิการเรียนไหนดี เพื่อช่วยพัฒนาโอกาสด้านการศึกษาและเปิดทางสู่การเสริมสร้างศักยภาพที่จำเป็นในการใช้ชีวิตให้กับเด็กๆ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีเด็กพิการกว่า 600 ชีวิตได้ค้นพบแนวทางการศึกษาผ่านทางเพจและกลุ่มบน Facebook ตลอดถึงกิจกรรมแนะแนวประจำปีต่างๆ

 

สำหรับโครงการ Facebook Community Accelerator เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Facebook Community Leadership โครงการระดับโลกที่ลงทุนเพื่อให้การสนับสนุนผู้คนที่มีบทบาทในการสร้างชุมชน กิจกรรมของโครงการยังรวมถึง Learning Labs ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ดูแลกลุ่มต่างๆ มารวมตัวกันในชั้นเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ กลุ่ม Power Admin โดยมีผู้นำชุมชนมากกว่า 40,000 คนมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันคำแนะนำให้กันและกัน และเชื่อมต่อกับ Facebook เพื่อทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ และให้คำติชม และ Community Hub ซึ่งเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้

 

โครงการ Community Accelerator พัฒนามาจากโครงการ Fellowship ของ Facebook ที่ให้การสนับสนุนผู้นำชุมชนจำนวน 115 คนจากทั่วโลก ผู้นำชุมชนเหล่านี้ได้รายงานว่าโครงการต่างๆ ของพวกเขาได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนมากกว่า 1.9 ล้านชีวิต ผ่านการสนับสนุนชุมชนบนโลกออนไลน์ การใช้ทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะการสนับสนุนของโครงการ โดยมีผู้คนมากกว่า 200,000 คนจากกว่า 50 ประเทศได้เดินทางมาเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีการวางแผนจัดเตรียมไว้ ภายในพื้นที่ที่ปลอดภัย และได้รับประสบการณ์สร้างสรรค์ต่างๆ ที่ชุมชนจัดขึ้น โดยมีถึงร้อยละ 88 ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการรายงานว่า พวกเขาได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของพวกเขา

 

ภายในระยะเวลา 3 เดือนแรก ผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Facebook Community Accelerator จะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ โค้ช และหลักสูตรที่มีการปรับให้เหมาะสมกับชุมชนของพวกเขา หลังจากนั้น ผู้นำชุมชนจะใช้เวลา 3 เดือนหลังในการปรับปรุงและดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยจะได้รับเงินทุนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากเครือข่ายชุมชน ตลอดจนทีมงานเพื่อดูแลโครงการนี้โดยเฉพาะ กลุ่มผู้นำชุมชนที่ได้รับคัดเลือกยังจะได้รับเงินทุนสูงสุดถึง 93 ล้านบาท (หรือ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

 

โครงการในครั้งนี้จะได้รับการต่อยอดสู่กิจกรรมเพิ่มเติมในอนาคต โดยจะแสดงรายละเอียดของชุมชนและความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อค้นหานักลงทุนและพันธมิตรภายนอกเพิ่มเติม

 

 

ขอขอบคุณ  https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000072335

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *