เยาวชนรุ่นใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง

เยาวชนรุ่นใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง  thaihealth

 

ข้อมูลบางส่วนจาก งานพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ระหว่าง สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กับ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนำร่องจำนวน 5 แห่ง และ จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับที่ 211 พฤษภาคม 2562

 

สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพมากมาย เด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติในภายภาคหน้า ต้องเติบโตท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ ทำให้พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง และได้รับผลกระทบตามมามากมาย ทั้งผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ พัฒนาการตามช่วงวัย รวมทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ในครอบครัวอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนมองเห็น  และพยายามแก้ไขกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหายาเสพติด  บุหรี่  รวมทั้งการพนันออนไลน์ด้วย

 

ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่ในสังคมเท่านั้นที่มองเห็น และตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาข้างต้น แต่เด็กและเยาวชนเอง ก็ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการเร่งลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อตัวของพวกเขา รวมถึงน้องๆ เด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต จึงทำให้เกิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

 

เยาวชนรุ่นใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง  thaihealth

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนถือว่ามีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องใช้รถจักรยานยนต์เดินทางเสมอ ข้อมูลจากสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ  โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สสส. ระบุว่า  เด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 100 คนจากอุบัติเหตุ จะกลายเป็นผู้พิการ 5 คน และทั้งปีจะมีเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้พิการกว่า 2,000 คน

 

สสส. และภาคีเครือข่าย พยายามกระตุ้นสังคมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี กระทั่งมองเห็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพออกสู่สังคม จึงจับมือกันทำพิธี MOU ขึ้น หลังจากนี้ สสส.จะสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันของส่วนราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา รู้เท่าทันตัวเอง และรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนการมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว

 

จากผลสำรวจของสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย พบว่า การให้เยาวชนสื่อสารกันเองจะประสบความสำเร็จมากกว่า เนื่องจากไม่เกิดช่องว่างระหว่างวัย อีกทั้งการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เข้าร่วมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในมิติด้านสุขภาพยังอยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” อีกด้วย

 

เยาวชนรุ่นใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง  thaihealth

 

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ยท. โดยโครงการพัฒนาการสื่อสารและเฝ้าระวังกลยุทธ์การโฆษณาและการตลาดของธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ตระหนักดีถึงปัญหาข้างต้น ดังนั้นในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จึงมีแนวคิดจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา พื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และเครือข่ายนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกันด้านปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ยท. จะสนับสนุนทรัพยากรให้แกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไปดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การรณรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทักษะทางวิชาการ ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน

 

เยาวชนรุ่นใหม่ ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง  thaihealth

 

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำลายสุขภาพของผู้คนเป็นจำนวนมาก และถูกมองด้วยค่านิยมผิดๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของเยาวชนว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วเท่ ดูดี ก็คือการทดลองสูบบุหรี่ด้วยความอยากรู้ อยากลอง จนติดและเลิกได้ยาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกาย ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ  เนื่องจากในบุหรี่มีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด และมากกว่า 70 ชนิด เป็นตัวก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เมื่อรับสารเคมีจากบุหรี่เข้าไปในร่างกาย จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ กับร่างกาย ดังนี้

 

1.ปอดและเซลล์ : “สารทาร์” จะจับอยู่ในปอด และมีสารเคมีชื่อคาซิโนเจน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็งในร่างกาย  โดยรับเอาสารเคมีหลายชนิดเข้าไป เช่น เบนซิน และฟอร์มัลดีไฮด์ สารเหล่านี้เป็นตัวนำไปสู่มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งไต

 

2.ผิวหนัง : “อะซีตัลดีไฮด์” หนึ่งในสารเคมีในควันบุหรี่ซึ่งเข้าไปโจมตีเนื้อเยื่อที่ยึดผิวหนังเข้าไว้ด้วยกัน ทำใบหน้าเหี่ยวย่นและมีริ้วรอย ร่างกายของเราหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตคอลลาเจน ที่ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพดีและนุ่มนวล สารในบุหรี่จะไปทำลายสารต้านเหล่านี้ การไหลเวียนโลหิตอาจมีปัญหา เพราะออกซิเจนไม่เพียงพอที่จะนำพาเม็ดเลือดไปหล่อเลี้ยงได้ทั่วร่างกายเหมือนคนปกติ ทำให้ผิวหยาบกร้าน

 

3.ฟัน : “ทาร์” สารพิษเหนียวๆ ในบุหรี่ จะไปเกาะจับทั่วปากและฟัน การสูบบุหรี่จะไปลดปริมาณน้ำลายในปากทำให้ฟันมีคราบและเปลี่ยนสี ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ หรือโรคเหงือก ซึ่งเกิดการอักเสบรอบๆ ฟัน ทำให้เหงือกบวม มีกลิ่นปาก และในกรณีที่ร้ายแรงก็อาจจะทำให้คุณสูญเสียฟันได้

 

4.เส้นผม : การไหลเวียนโลหิตที่มีปัญหาเนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ ทำให้เส้นผมแข็งกระด้างและอาจจะทำให้ผมหงอกก่อนวัยอีกด้วย

 

สสส.ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งสุขภาวะอย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตท่ามกลางสังคมคุณภาพ เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างสูงสุด

 

ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
เรื่องโดย  ปัญจวรา บุญสร้างสม Team content www.thaihealth.or.th

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thaihealth.or.th/Content/52779-เยาวชนรุ่นใหม่%20ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง%20.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *